ผ้าไหมอีสาน ลักษณะเด่นและลายเอกลักษณ์

ผ้าอีสาน คือ ผ้าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นชาวไทลาว ไทพวน และผู้ไท จึงมีการทอทั้งจากผ้าฝ้ายเเละไหม จากคำกล่าวที่ว่า “เมื่อยามว่างจากหน้านา ผู้ชายจักสาน ผู้หญิงทอผ้า

ลักษณะลวดลายและกรรมวิธีการทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชน

โดยในเขตอีสานตอนเหนือมีผ้าของไทลาวและผู้ไทเป็นแหล่งทอผ้าฝ้ายมัดหมี่ย้อมครามและผ้าขิด มีผ้าไหมสำหรับงานพิธีกรรม

ส่วนอีสานตอนกลาง ได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งทอผ้าไหมมัดหมี่ หน้ากว้าง และผ้าหางกระรอก หรือที่เรียกว่า ผ้าม่วง สำหรับข้าราชการสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ส่วนผ้านุ่งผู้หญิงเป็นผ้ามัดหมี่ มีแม่ลายหลากหลาย เช่น ลายนาค ลายต้นสน ลายนก และลายขอ เป็นต้น ซึ่งแม่ลายเหล่านี้ยังมีการนำมาประยุกต์ใช้จวบจนปัจจุบัน

นอกจากนี้ในอีสานตอนกลาง ยังมีผ้าผู้ไท ที่โดดเด่น คือ ผ้าสไบหรือแพรด่าม ที่ทอด้วยเทคนิคขิด และผ้าห่ม ซึ่งทอด้วยเทคนิคขิดและจก

ส่วนในอีสานใต้ ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมการทอผ้าจากชาวเขมรและชาวกูย จึงมีการทอผ้าไหมมัดหมี่เส้นพุ่ง ตามแบบเขมร

ผ้าไหมอีสาน หรือผ้าไหมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

ชาวอีสานมีความแตกต่างทางเชื้อสาย ดังกล่าวส่งผลให้การทอผ้าของชาวอีสานจึงมีที่มาและเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน มีชื่อเสียงโด่งดังทั้ง ผ้าฝ้ายและผ้าไหม

นอกจากผ้ามัดหมี่แล้ว ยังมีการทอผ้าขิด ผ้าแพรวา ผ้ายก ผ้ากาบบัว ผ้าโฮล และผ้าพื้น ๆ ทั่วไปอีกมากมาย ลายผ้าที่เกิดจากเรื่องเล่าและเกี่ยวพัน กับความเชื่อของคนในท้องถิ่น มีให้เห็นมากมายในภาคอีสาน โดยเฉพาะในจังหวัดที่ติดกับแม่น้ำโขง เช่น

ผ้าซิ่น ของจังหวัดเลย

ที่เล่าเรื่องผ้ามัดหมี่ ผ่านตำนานผู้หญิงชาวไทดำที่มีความกล้าหาญ มีสติ และมุ่งมั่น จนเป็นที่มาของ “ซิ่นลายนางหาญ” เช่นเดียวกันกับผ้ามัดหมี่ลายต้นเทียน ของจังหวัดบึงกาฬ ที่มีการผสมผสานจากความเชื่อในเรื่องของการบูชาพญานาค ผนวกกับการใช้จินตนาการของบรรพบุรุษคิดค้นลายผ้าให้สอดคล้องกับประเพณีที่ได้สืบทอดกันมา เช่น ไหลเรือไฟ

ผ้ามัดหมี่ ลายนาคคู่ ของจังหวัดหนองคาย

ผ้าขิดไหมลาย 12 นักษัตร มณีนพเก้า แรงบันดาลใจของลายผ้าผืนนี้ มาจากการ ได้เห็นความเชื่อด้านโหรศาสตร์ของคนหนองบัวลำภู
หรือจะเป็นอารยมณีหมี่ขิดลายนาคช่อ ขอล่อแก้วเชิงเชียง จังหวัดอุดรธานี ที่สื่อความหมายถึงประเพณี และความเชื่อเกี่ยวกับพญานาค ของชนชาวอุดรธานีแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมี ผ้าไหมมัดหมี่ตีนแดงจกดาว อันเป็นกรรมวิธีของชาวบุรีรัมย์ ลายนาคกระดิ่ง ที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ความมั่นคงเป็น สิริมงคลแก่ผู้สวมใส่จากผ้าไหมที่ย่ายายทอ ย้อมด้วยสีธรรมชาติ เส้นไหมสาวมือจากไหมที่เลี้ยงเอง ทำให้เกิดผ้าลายผ้าทอที่ได้รับสืบทอดและเป็นอัตลักษณ์ประจำถิ่น และยังคงสืบสานและสร้างเอกลักษณ์ผ้า เช่น ผ้าขิดลายลูกหวาย (ลายดอกยศสุนทร) ที่ใช้เส้นไหมย้อมสีธรรมชาติของจังหวัดยโสธร

ผ้าไหมมัดหมี่ ลายสาเกต

ที่นำเอาลายพื้นบ้าน 5 ลายยอดนิยมของ กลุ่มชนในจังหวัดร้อยเอ็ด มาทอรวมอยู่ในผืนเดียวกัน สร้างเอกลักษณ์ใหม่ ให้จังหวัด

ผ้าไหมศรีลำดวน ลายลูกแก้ว

มีมาตั้งแต่อดีตกาลกว่า 200 ปีก่อนของชาวศรีสะเกษ ที่ย้อมผ้าด้วยผลมะเกลือเพิ่มน้ำหนักให้ผ้าทำให้มีคุณสมบัติซักแล้วไม่ต้องรีด

ผ้าไหมโฮล ลายประจำจังหวัดสุรินทร์

ที่คุณภาพดี ใช้ไหมเส้นน้อยทอแน่น ทำให้เนื้อผ้าบางเบา อ่อนนุ่ม ส่วนลวดลายได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะเขมร

ผ้าขิดจังหวัดนครพนม

โดดเด่นที่ผ้าฝ้ายลายขิดแซมยกมุก 4 ลาย ได้แก่ ลายมุก ลายดอกมะซ่าน ลายตุ้ม และลายพันมหา เส้นฝ้ายย้อมด้วยสมุนไพรไม้มงคล มักใช้ในงานพิธีมงคลต่างๆ เป็นลายโบราณของหมู่บ้านหนองสังข์ ที่มีการทอจากอดีตจนถึงปัจจุบัน


ผ้าไหมแพรวาสีแดง ของจังหวัดกาฬสินธุ์

เป็นการทอผ้าไหมที่มีภูมิปัญญาในการทอใช้วิธีการเก็บลายโดยการขิดลายที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ สีแดงใช้ครั่ง เป็นสีย้อม

ส่วนลวดลายบนผืนผ้ามีหลากหลาย

จังหวัดอุบลราชธานี โดดเด่นที่ผ้ากาบบัว เป็นผ้าไหมแท้ทอผ้าแบบถี่มาก ใช้ฝีมือประณีต รายละเอียดของผ้ามีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์

 

ลายผ้าไหม ผ้าขิด ผ้าฝ้ายที่นำลักษณะของต้นไม้ ดอกไม้ ในท้องถิ่น มาสร้างลายเอกลักษณ์ลงบนเส้นไหม และนำมาทอเป็นลวดลายที่สื่อให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชุมชน เช่น ผ้าไหมมัดหมี่ของ จังหวัด ขอนแก่น ลายแคนแก่นคูน

จังหวัดชัยภูมิ โดดเด่นที่ลายขอดอกมะขาม

 

จังหวัดอำนาจเจริญ ผ้าขิด ลายดอกพิกุลสลับเอื้อผสมลูกหวาย

จังหวัดสกลนคร ผ้ามัดหมี่ ผ้าฝ้ายเข็นมือย้อมคราม ลายดอกไม้ป่า แรงบันดาลใจจากธรรมชาติในท้องถิ่น

จังหวัดนครราชสีมา ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมมัดหมี่ลายปูนา

จังหวัดมหาสารคาม ผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้อยดอกหมาก ผลิตจากเส้นไหมพิเศษขนาดเล็ก เพื่อให้ตัวลายดอกหมาก มีความเล็กและถี่เป็นพิเศษ ลงสีแบบโบราณ คือเหลือง แดง เขียว และจะมีการถมสีพิเศษขึ้นมาระหว่างกระบวนการล้างสี คือขาว ละเอียดอ่อนช้อย ผ้ามีความแน่น

ส่วนที่จังหวัดอุบลราชธานี มีลายเด่นคือ สิ่นทิวมุกจกดาว หรือ ซิ่นทิวมุกจกดาว เป็นผ้าโบราณของเจ้านายสตรีชั้นสูงแห่งเอุบลราชธานีศรีวนาลัย และลายกาบบัว